ประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืน
 

          บริษัทฯ ได้ทบทวนประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนทุกปี โดยศึกษาเปรียบเทียบประเด็นที่สำคัญ ที่กำหนดปีที่ผ่านมาและประเด็นที่เกิดขี้นใหม่ระหว่างปี โดยการวิเคราะห์ผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ที่ต้องบริหารจัดการลดผลกระทบให้เป็นน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย พร้อมกับบริหารความคาดหวังและความสามารถในการตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม การบริหารความเสี่ยงจากความรุนแรงของธรรมชาติเกินกว่าจะคาดการณ์ได้เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การบังคับใช้กฎระเบียบปฏิบัติ เงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้เข้มข้นขึ้นในปี 2568 ทำให้ต้องมีการปรับปรุงแผนกลยุทธ์ให้สอดคล้อง

          การระบุกระบวนการที่เป็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืน (Materiality Assessment) มีความสำคัญในการกำหนดทิศทางและวางแผนกลยุทธ์ความยั่งยืนขององค์กร โดยมีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

  1. ระบุประเด็นด้านความยั่งยืน  โดยการพิจารณาจากข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น มาตรฐานสากล GRI, มาตราฐานตัวชี้วัดความยั่งยืน SET ESG Rating ของธุรกิจเกษตร, แนวโน้มอุตสาหกรรม, กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง, และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อระบุประเด็นด้านความยั่งยืนที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย

  2. ประเมินความสำคัญของประเด็น  โดยวิเคราะห์ความสำคัญของแต่ละประเด็น พิจารณาจากผลกระทบต่อธุรกิจ ในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และ เศรษฐกิจ และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย

  3. จัดลำดับความสำคัญของประเด็น โดยใช้เครื่องมือ Materiality Matrix เพื่อให้ได้ประเด็นที่มีความสำคัญสูงสุด

  4. กำหนดประเด็นสาระสำคัญ  โดยคัดเลือกประเด็นที่มีความสำคัญจากการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อกำหนดเป็นประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กร เพื่อมุ่งเน้นในการวางกลยุทธ์และดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนองค์กร

  5. ทบทวนและปรับปรุง  ประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กรทุกปี เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจปัจจุบัน  ตอบสนองความคาดหวังผู้มีส่วนได้เสีย  และ ทิศทางขององค์กร 

การจัดลำดับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน ปี 2566


การอนุมัติประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน
 

          กรรมการบริษัทได้อนุมัติประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของธุรกิจปี 2566  และ กำกับให้ทุกหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบวางแผนพัฒนาความยั่งยืนองค์กรอย่างดีต่อไป

 
ความสำคัญต่อธุรกิจ และ การตอบสนองเป้าหมาย SDG
 

มิติสิ่งแวดล้อม

ประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืน

ความสำคัญต่อธุรกิจ

เป้าหมาย
SDGs

1. การรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง / การจัดการก๊าซเรือนกระจก

  • ช่วยลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง ที่อาจสร้างความเสียหายต่อธุรกิจและห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

  • ลดความเสี่ยงด้านกฏหมาย, ข้อจำกัดทางการค้าที่เข้มงวดขึ้น, หรือกฏระเบียบด้านพลังงานทดแทน ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

  • โอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดี  ได้รับการยอมรับจากลูกค้า สถาบันการเงิน นักลงทุน  มีโอกาสในการสร้างความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว

  • SDG 13 : Climate Chage

  • SDG 12 : Responsible Consumption and Production

2. การจัดการพลังงาน

  • ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน - ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน และพลังงานอื่น ๆ

  • โอกาสนในการปรับปรุงกระบวนการผลิต  การนำเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงานมาใช้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

  • ธุรกิจสามารถแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้น และมีทรัพยากรเหลือเพื่อการลงทุนในด้านอื่นๆ

  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • ลดมลพิษ จากการใช้พลังงานสะอาด  ส่งผลดีต่อสุขภาพของพนักงานและชุมชนโดยรอบ

  • ลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอก กรณีใช้พลังงานทดแทน เพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน

  • SDG 7 : Affordable and Clean Energy

3. การจัดการขยะและของเสีย

  • ลดมลพิษ จากการจัดการขยะและของเสียอย่างถูกต้อง

  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก: การจัดการขยะอินทรีย์อย่างถูกต้อง เช่น การทำปุ๋ยหมัก ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสภาพภูมิอากาศ

  • ลดต้นทุน และ เพิ่มรายได้ จากการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี

  • ลดผลกระทบต่อชุมชน  สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน และ สิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบ

  • SDG 12 : Responsible Consumption and Production

  • SDG 13 : Climate Change

  • SDG 14 : Life below Water

  • SDG 15 : Life on Land

4. การจัดการทรัพยากรน้ำ

  • มีน้ำเพียงพอใช้ในการกระบวนการผลิต

  • โอกาสในการจัดการการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้หลัก 3 R – Reduce, Reuse and Recycle  ลดต้นทุนในการผลิตจากการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่

  • ไม่ปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ลดมลพิษทางน้ำ และ ระบบนิเวศ

  • ป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีและของเสีย  ในแหล่งน้ำและดิน

  • SDG 6 : Clean Water and Sanitation

  • SDG 12 : Responsible Consumption and Production


มิติสังคม

ประเด็นสาระสำคัญ
ด้านความยั่งยืน

ความสำคัญต่อธุรกิจ

เป้าเหมาย
SDG

5. การจัดการด้านสิทธิมนุษยชน

  • ลดความเสี่ยงด้านกฎหมายและชื่อเสียง จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอาจนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี ค่าปรับ และความเสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัท ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน

  • ลดความเสี่ยงในการดำเนินงาน จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอาจทำให้เกิดการหยุดชะงักในการผลิต การประท้วง หรือการคว่ำบาตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของธุรกิจ

  • การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เคารพสิทธิมนุษยชนและให้ความเป็นธรรมแก่พนักงาน จะช่วยดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ

  • สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน จากความคาดหวังของนักลงทุน ข้อกำหนดของคู่ค้า หรือ ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

  • SDG 8 : Decent Work and Economic Growth

6. การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม

  • แรงงานที่มีความพึงพอใจในการทำงานให้บริษัท สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และ เพิ่มผลผลิต

  • ลดอัตราการลาออกและขาดงานของพนักงาน ทำให้ธุรกิจสามารถรักษาพนักงานที่มีประสบการณ์และความสามารถไว้ได้

  • ดึงดูดแรงงานที่มีคุณภาพ

  • SDG 8 : Decent Work and Economic Growth

7. ความรับผิดชอบต่อชุมชน

  • ช่วยสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบของธุรกิจต่อชุมชน เช่น ปัญหามลพิษ หรือการแย่งชิงทรัพยากร

  • โอกาสในการดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน และการตอบสนองต่อข้อกังวลของชุมชนอย่างจริงใจ ช่วยสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือระหว่างธุรกิจและชุมชน

  • ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคง  เข้าถึงทรัพยากรที่สำคัญในท้องถิ่น – แรงงาน, วัตถุดิบ, ที่ดิน  ฯลฯ ได้สะดวกขึ้น

  • โอกาสในการสร้างคุณค่าร่วม (Shared Value) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น

  • SDG 8 : Decent Work and Economic Growth

  • SDG 10 : Reduced Inequality

  • SDG 17 : Partnership for the Goals

8. ความรับผิดชอบต่อลูกค้า

  • การสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว ช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียลูกค้า และ สร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจ

  • ลดข้อร้องเรียนและการคืนสินค้า  การส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานและบริการที่ดีช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจของลูกค้าต่อบริษัท

  • SDG 12 : Responsible Consumption and Production


มิติเศรษฐกิจ

ประเด็นสาระสำคัญ
ด้านความยั่งยืน

ความสำคัญต่อธุรกิจ

เป้าหมาย
SDG

9. การบริหารความเสี่ยง

  • ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจ สภาพภูมิอากาศ  เพิ่มความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว  ช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

  • ลดความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน ช่วยลดการหยุดชะงักการผลิตจากประเด็นแรงงานขาดแคลน เครื่องจักร หรือ อุบัติเหตุ ในโรงงาน

  • ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ จากการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ผู้บริหารสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • ช่วยเพิ่มความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม สังคม และ เศรฐกิจ 

  • ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ สร้างความยั่งยืนในระยะยาว

  • SDG 16 : Peace, Justice and Strong Institutions

10. การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน

  • ช่วยลดความเสี่ยง และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน  จากการกำกับดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และ สังคม ในห่วงโซ่อุปทาน

  • ช่วยกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัตถุดิบ

  • ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อนักลงทุน ลูกค้า และ ผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ

  • SDG 8 : Decent Work and Economic Growth

  • SDG 12 : Responsible Consumption and Production

 

11. การกำกับดูแลกิจการ

  • สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสีย:

  • ผู้ถือหุ้น : มั่นใจได้ว่าเงินลงทุนจะถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส สามารถดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท

  • พนักงาน:  ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน  ส่งผลให้พนักงานมีความผูกพันและมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น

  • คู่ค้า: ความน่าเชื่อถือและปฏิบัติตามสัญญา เสริมสร้างความร่วมมือที่ดีและสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว

  • ชุมชนและสังคม: ธุรกิจจะดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบส่งผลให้ธุรกิจได้รับการสนับสนุนจากชุมชน

  • SDG 16 : Peace, Justice and Strong Institutions

12. การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี

  • เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต – การพัฒนากระบวนการแปรรูปที่ทันสมัย ช่วยลดการสูญเสียน้ำยาง เพิ่มคุณภาพ และลดต้นทุน

  • การพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์ ช่วยสร้างความแตกต่างและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

  • การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจและดึงดูดลูกค้าที่มีความต้องการเฉพาะการเข้าถึงตลาดใหม่:

  • SDG 9 : Industry, Innovation and Infrastructure


นโยบายและแนวปฏิบัติการพัฒนาอย่างยั่งยืน        
       
         บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยจะให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) ที่เป็นไปตามหลักสากล และเพื่อให้บริษัทฯ มีการปรับตัวและพัฒนาธุรกิจให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้สภาวการณ์ที่การดำเนินธุรกิจต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายหลายด้าน รวมทั้งเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าในระยะยาวให้แก่ธุรกิจและสร้างคุณค่าหรือประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสีย คณะกรรมการบริหาร จึงได้กำหนดนโยบาย และเป้าหมายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้
  1. บริษัทฯ จะดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้ระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม  โปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ และมีความรับผิดชอบ โดยมีระบบงานสนับสนุนที่สำคัญ ประกอบด้วย การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน การสื่อสารข้อมูล การตรวจสอบและทบทวน
  2. ยึดถือและปฏิบัติตามแนวทางและวิธีปฏิบัติที่กำหนดไว้ในกฏบัตรและจรรยาบรรณบริษัทฯ รวมทั้งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  3. นำแนวคิดและหลักการในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน มาปรับใช้ในการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าและความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ
  4. กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ
  5. กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติด้านสังคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน และความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ต่อชุมชนและสังคม ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ
  6. ปลูกฝังจิตสำนึกและวัฒนธรรมด้านการปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคมต่อพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
  7. พัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมองค์กรและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เป็นกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและความเติบโตขององค์กรในระยะยาว
  8. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  9. เปิดเผยข้อมูลการกำกับดูแลกิจการและข้อมูลการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน แก่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ

แนวปฏิบัติของนโยบาย
      
        
บริษัทฯ มีคณะกรรมการบริษัท ทำหน้าที่สนับสนุนและผลักดันให้มีการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน และมีคณะกรรมการบริหาร ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อให้ฝ่ายจัดการรับไปดำเนินการ โดยมุ่งหวังให้มีการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ การสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียการจัดการผลกระทบด้านลบต่อผู้มีส่วนได้เสีย มีการบริหารจัดการความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการใช้พลังงานการใช้น้ำ การจัดการขยะ ของเสียและมลพิษ การบริหารจัดการเพื่อลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก การจัดทำนโยบายด้านสังคม และสิทธิมนุษยชน ความรับผิดชอบต่อลูกค้า ความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม การปกป้องฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ การส่งเสริมนวัตกรรมและการสร้างคุณค่า การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้ระบบธรรมาภิบาล และการต่อต้านการทุจริต การเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
    ดังนั้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงและมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน บริษัทจึงได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะโครงการ ส่งเสริมให้ความรู้ รวบรวมข้อมูลและผลการดำเนินการต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อ “เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำยางข้นของโลก โดยสร้างสรรค์สินค้าคุณภาพที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อความยั่งยืนและมั่นคงของธุรกิจ” ตลอดไป

การจัดการผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ       
 
ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ
         TRUBB มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการ สร้างคุณค่าให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม  มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด  กิจกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่  การจัดหาปัจจัยการผลิตที่ยั่งยืน  การจัดการกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานสากล การใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก การจัดการการขนส่งที่ลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การส่งมอบสินค้าที่ได้มาตรฐาน และการบริการหลังการขายอย่างมีความรับผิดชอบ บริษัทฯ ดำเนินการด้วยความใส่ใจเพื่อตอบสนองความคาดหวังและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาความยั่งยืนตามเป้าหมาย SDG Goal 17 ข้อของสหประชาชาติ ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน

 

การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ 
        TRUBB ได้ระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจโดยตรงและโดยอ้อม โดยจัดหาช่องทางการสื่อสารระหว่างกันเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนากลยุทธ์ความยั่งยืน โดยใช้ความรู้ความชำนาญและความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่พัฒนามานานกว่า 10 ปี ของการดำเนินงาน ในการบริหารจัดการความคาดหวังที่เป็นประเด็นสำคัญของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างกัน
 
การประเมินสาระสำคัญของประเด็นความยั่งยืน
         
TRUBB ได้ทบทวนประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนทุกปี โดยศึกษาเปรียบเทียบประเด็นที่สำคัญ ที่กำหนดปีที่ผ่านมาและประเด็นที่เกิดขี้นใหม่ระหว่างปี โดยการวิเคราะห์ผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของ TRUBB ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ที่ต้องบริหารจัดการลดผลกระทบให้เป็นน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย การบริหารความคาดหวังและความสามารถในการตอบสนองความคาดหวัง ของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม การบริหารความเสี่ยงจากความรุนแรงของธรรมชาติเกินกว่าจะคาดการณ์ได้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การบังคับใช้กฎระเบียบปฏิบัติ เงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เข้มข้นขึ้น ทำให้ต้องมีการปรับปรุงแผนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

คณะกรรมการความยั่งยืน         
 
      คณะกรรมการบริษัทได้ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาโดยตลอด และได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการมีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม จึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการความยั่งยืน เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณากำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน อันนำไปสู่การมีระบบการบริหารจัดการองค์กรที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสีย เป็นการเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ดังนี้
  • นายภัทรพล วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการ
  • นางสาวฉลองขวัญ วงศาสุทธิกุล กรรมการ
  • นายประวิทย์ วรประทีป กรรมการ 
หน้าที่และความรับผิดชอบ
  1. กำหนดทิศทาง นโยบาย กลยุทธ์ เป้าหมาย และแผนงานการพัฒนาด้านความยั่งยืน ให้ครอบคลุมในมิติสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และการกำกับดูแลกิจการ (Government) ของบริษัทฯ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท
  2. สนับสนุน และผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนทั่วทั้งองค์กร โดยให้คำแนะนำ และส่งเสริมการบูรณาการ การดำเนินงานด้านความยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจ การประเมินความเสี่ยงและแผนงานขององค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กรที่ตั้งไว้
  3. ทบทวน และเสนอแนะแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนของบริษัท ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices) และมาตรฐานสากลให้ทันสมัยอยู่เสมอ และเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อการพิจารณาปรับปรุงพัฒนา
  4. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนประจำปีของบริษัท ให้สอดคล้องกับความต้องการ และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย บริบทภายนอก ทิศทาง เป้าหมายขององค์กร และเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อขออนุมัติ และมอบหมายให้ฝ่ายจัดการดำเนินการตอบสนอง และติดตามผล
  5. ติดตามและสรุปผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กร และรายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  6. ดูแลการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัท ผ่านรายงานประจำปี และรายงานความยั่งยืนประจำปีของบริษัท
  7. พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานด้านความยั่งยืนตามที่เห็นสมควร
การรายงานความคืบหน้าการดำเนินการด้านความยั่งยืน
  • รายงานต่อคณะกรรมการบริษัท ไตรมาสละ 1 ครั้ง
  • รายงานต่อคณะกรรมการบริหาร และผู้บริหาร เดือนละ 1 ครั้ง
สรุปผลการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน ในปี พ.ศ. 2566 ขับเคลื่อนตามหลัก ESG ได้ดังนี้

E - Environment  ด้านสิ่งแวดล้อม 
S - Social             ด้านสังคม 
G - Governance  ด้านบรรษัทภิบาล ดำเนินงานตามปรัชญาการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ พันธกิจ และคุณค่าขององค์กร

ด้านสิ่งแวดล้อม 
บริษัทดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน ได้แก่
          1. การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก บริษัทกำหนดเป้าหมาย Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเป็น ปีเดียวกับองค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนด ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2566 บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร จากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นฐานในการทำกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกในปีถัดไป 
          สำหรับโครงการลดก๊าซเรือนกระจก บริษัทฯ ได้แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้วางโครงการที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และลดต้นทุนในระยะยาว ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2566 บริษัทฯ จึงได้วางแผนการทำ  
  • โครงการโซล่าเซลล์ที่สำนักงานใหญ่ และโรงงานทั้ง 5 แห่ง เพื่อเป็นพลังงานทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้า   
  • การเพิ่มและปรับปรุงเครื่องจักรในการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ดีขึ้นลดการใช้ไฟฟ้า  
  • การบริหารจัดการขยะเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนเทียบเท่า    
          นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ ทั้งหมด 18 รายการ เพื่อเตรียมความพร้อมทางการค้าในปีถัดไป ที่ลูกค้าเริ่มมีความต้องการทราบข้อมูลคาร์บอนของผลิตภัณฑ์ที่ซื้อ
          2. โครงการพลังงานทดแทนจากโซล่าร์เซลล์ ในปี พ.ศ. 2566 บริษัทฯ ดำเนินการติดตั้งโซล่าเซลล์ที่สำนักงานใหญ่แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งผลการใช้ไฟฟ้าพบว่าสามารถประหยัดการใช้ไฟฟ้าได้ 37%  อัตราส่วนระหว่างการใช้พลังงานไฟฟ้าต่อพลังงานโซล่าเซลล์เท่ากับ 65:35  สำหรับแผนการดำเนินการโครงการโซล่าเซลล์ที่โรงงานผลิตน้ำยางข้น 5 แห่ง ได้แก่ โรงงานสุราษฎร์ธานี โรงงานหาดใหญ่ โรงงานชลบุรี โรงงานระยอง และโรงงานเชียงราย บริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนการติดตั้งต่อไป
          3. โครงการทิ้งทูแทรช บริษัทฯ เข้าร่วมโครงการ Ting to Trash กับสมาคมบริษัทจดทะเบียน และ บริษัท คิด คิด จำกัด เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการจัดการขยะให้กับองค์กร โดยกระตุ้นให้พนักงานทุกคนคัดแยกขยะ โดยยึดหลัก 3Rs และร่วมกันบริหารจัดการให้เกิดของเสียน้อยที่สุด มีแผนการนำขยะที่แยกแล้วไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ซึ่งผลการดำเนินงาน บริษัทฯ ได้รับการแจ้งว่ามีอัตราการมีส่วนร่วมและผลงานที่ดีจากบริษัท คิด คิด จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาคมจดทะเบียนและ ได้ทำเรื่องขอเข้าสัมภาษณ์เพื่อแลกเปลี่ยนความสำเร็จในการดำเนินงาน เมื่อเดือนมีนาคม 2567 
          4. ด้านการบริหารจัดการน้ำ บริษัท ฯ ยังคงแนวคิด 3R (Reduce, Reuse, Recycle) ในการบริหารจัดการน้ำลดการดึงน้ำจากธรรมชาติมาใช้ในการดำเนินงาน และไม่ปล่อยน้ำเสียกลับสู่ธรรมชาติดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการบำบัดน้ำเสีย ให้มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฏหมายกำหนด สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ภายในโรงงานได้โดยไม่มีการปล่อยน้ำออกสู่ชุมชน เช่น การใช้รดน้ำต้นไม้ การล้างทำความสะอาดพื้นภายในโรงงาน เป็นต้น

ด้านสังคม 
          บริษัทฯ ได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมุ่งเน้นในการสร้างคุณค่าร่วมที่ยั่งยืนต่อสังคมโดยที่บริษัทฯ ได้แบ่งปันความเชี่ยวชาญในธุรกิจยางพารา สร้างคุณค่าต่อสังคมผ่าน 2 โครงการหลัก ได้แก่
          1. โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ 
บริษัทได้พัฒนาโครงการจากแนวคิดที่ว่า 
  • ความต้องการคาร์บอนเครดิตในภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมในประเทศจีน ซึ่งบริษัทฯ ได้มีเครือข่ายทางการค้า   
  • ต้นยางพาราสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ดี สามารถพัฒนาเป็นคาร์บอนเครดิต ให้ผลประโยชน์ต่อเกษตรกรยางพาราได้  
  • การขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตต้องใช้งบประมาณที่เกินกว่าความสามารถของเกษตรกรรายเดี่ยวจะดำเนินการเองได้ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้อำนวยความสะดวกโดยการติดต่อผู้ซื้อจากประเทศจีนที่มีความต้องการคาร์บอนเครดิตสูง มีเงินทุนพร้อมสนับสนุน และพร้อมรับซื้อคาร์บอนเครดิตทั้งหมด โดยบริษัทฯ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมเกษตรกรเข้าร่วมโครงการและอำนวยความสะดวกในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างกัน   ซึ่งโครงการนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มคุณค่าจากทรัพยากรที่เกษตรกรมีอยู่ คือ สวนยางพารา ให้สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนใด ๆ และได้ประโยชน์ทุกฝ่าย
          2. โครงการยางไทยแก้จน สังคมเป็นสุข สิ่งแวดล้อมสดใส 
          บริษัทดำเนินโครงการฯ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยสร้างสวนยางพาราให้โรงเรียน 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านแม่แพง จำนวน 20 ไร่ โรงเรียนบ้านแม่ลากเนินทอง จำนวน 6 ไร่ โรงเรียนบ้านทับกุมารทอง จำนวน 20 ไร่  บริษัทฯ ได้แบ่งปันความรู้ด้านการบริหารจัดการสวนยางอย่างถูกวิธีให้กับครูและนักเรียนสอนวิธีการปลูกยาง  การบำรุงดูแลรักษาสวนยาง การกรีดและการถนอมรักษาน้ำยางให้ได้คุณภาพ รายได้จากการขายน้ำยางสด ทางโรงเรียนสามารถนำไปเป็นงบประมาณให้กับนักเรียน เช่น ค่าอาหารกลางวัน ค่าน้ำมันรถรับส่ง และค่ากิจกรรมอื่น ๆ ได้ และผลจากการแบ่งปันความรู้นี้ทำให้ครูและนักเรียนมีทักษะที่จะนำไปช่วยงานในครอบครัวได้ ซึ่งส่วนใหญ่ครอบครัวจะเป็นเกษตรกรสวนยางพาราในพื้นที่ 
          สำหรับกิจกรรมด้านสังคมอื่น ๆ กับชุมชนและหน่วยงานราชการโดยรอบโรงงาน  บริษัทมีนโนบายให้ทุกโรงงานเข้าร่วมกิจกรรมชุมชนเพื่อสานสัมพันธ์และมอบประโยชน์ให้แก่ชุมชนและหน่วยงานโดยรอบโรงงานอย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างกิจกรรมดังนี้
  • โรงงานสาขาสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมโครงการป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์เข้าร่วมและสนับสนุนกิจกรรมแข่งขันกีฬาประชาชน ตำบลขุนทะเล
  • โรงงานสาขาหาดใหญ่ เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กิจกรรมทอดผ้าป่าขยะรีไซเคิล
  • โรงงานสาขาชลบุรี ต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • โรงงานสาขาระยอง ร่วมสนับสนุนชุมชนรอบโรงงานในการเข้าร่วมโต้วาทีในงานกาชาดจังหวัดระยอง ตัวแทนโรงงานเข้าร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์ชุมชนคนกะเฉด
  • โรงงานสาขาเชียงราย กิจกรรมปลูกป่าฟื้นฟูเหมือง คืนพื้นที่สีเขียว รักษ์สิ่งแวดล้อม กิจกรรมสนับสนุนโครงการกิจกรรมเปิดบ้านวิชาการ
  • สำนักงานใหญ่ ได้จัดทำโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้องให้แก่โรงเรียนวัดสนามช้าง (ประดิษฐ์ราษฎร์รังสรรค์) จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศปรับแก้ระบบอินเตอร์เน็ตใช้งานได้ และลงโปรแกรมที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ และจัดกิจกรรมสันทนาการแบ่งปันความรู้ทางเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมมอบทุนทรัพย์ สิ่งของ อุปกรณ์กีฬา หนังสืออ่าน ของเล่น ส่งต่อเครื่องมือแห่งการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ ในโรงเรียน
ด้านเศรษฐกิจ  
          บริษัทฯ มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้กับธุรกิจผ่านโครงการพัฒนานวัตกรรม โดยใช้หลักการพัฒนานวัตกรรมให้กับสินค้าอย่างยั่งยืนใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติลดลง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  โดยมีโครงการที่อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา 5 โครงการ
และในปี พ.ศ. 2566 บริษัทฯ ยังคงถือสิทธิบัตร ในการผลิตน้ำยางข้น 2 รายการที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพของน้ำยางคอมปาวน์ให้ดีและเก็บได้นานขึ้น 

การรับรองคุณภาพมาตรฐานการดำเนินงาน และ การบริหารปัจจัยการผลิต
  • ISO 9001:2015 มาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพ (QMS) ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
  • ISO 14001:2015 มาตรฐานสากลสำหรับระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร
  • ISO 17025 มาตรฐานเกี่ยวกับข้อกำหนดว่าด้วยความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบและห้องปฏิบัติการสอบเทียบ ซึ่งจะประกอบด้วยข้อกำหนดด้านการบริหารงานคุณภาพและข้อกำหนดด้านวิชาการ
  • FSC-FM มาตรฐานการบริหารจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืน (สวนยางพารา เชียงคำ จังหวัดพะเยา)
  • FSC -COC มาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์ว่าวัตถุดิบจากป่าไม้ถูกนำมาใช้อย่างน่าเชื่อถือตลอดเส้นทางของผลิตภัณฑ์จากป่าไปสู่การแปรรูป  
  • IFOAM มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์
  • USDA-NOP มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ 
  • GOLS มาตรฐานการแปรรูปน้ำยางออร์แกนิก อยู่ระหว่างการดำเนินการขึ้นทะเบียน
การยกระดับการประเมินผลงานด้านความยั่งยืน
          บริษัทฯ ใช้เครื่องมือการวัดผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนตามหลักสากล เพื่อช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย โดยใช้เครื่องมือดังนี้ SET ESG Ratings, CDP (Climate Change, Water Security), Ecovadis (Environment, Human Right, Business Ethics, Procurement), SMETA/Sedex (Human Right) และยึดหลักรายงานตาม GRI Standard

การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน
          
          บริษัทไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมโดยยึดหลักการบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความรับผิดชอบและระมัดระวังต่อผู้มีส่วนได้เสียต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท ซึ่งบริษัทได้จัดทำ “นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน” เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน ทั้งนี้บริษัทมีการปฏิบัติที่ดีสอดคล้องกับนโยบายที่ได้กำหนดไว้ตลอดจนให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง ตลอดจนบุคคลใดๆที่กระทำการเพื่อประโยชน์ของบริษัท

คำนิยาม
        คอร์รัปชัน หมายถึงการติดสินบนไม่ว่าจะในรูปแบบใด โดยการเสนอให้ สัญญาว่าจะให้ มอบให้ ให้คำมั่น จะให้เรียกร้องหรือรับ (ในรูปตัวเงิน/ทรัพย์สิน) หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน คู่ค้า ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการให้ได้มาเพื่อรักษาไว้ซึ่งธุรกิจหรือแนะนำธุรกิจให้กับบริษัทโดยเฉพาะหรือเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมกับธุรกิจ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นหรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้
 
หน้าที่ความรับผิดชอบ
  1. คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย กำกับดูแล และสนับสนุนระบบการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และทันสมัย รวมถึงมีกระบวนการในการรับเรื่องร้องเรียนแจ้งเบาะแสและการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ความสำคัญในการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันตลอดจนส่งเสริมให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร
  2. คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการสอบทานการระบบรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบควบคุมภายใน และระบบบริหารความเสี่ยง ตลอดจนรับเรื่องแจ้งเบาะแสการคอร์รัปชันที่พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทรวมถึงมีการให้คำชี้แนะและติดตามให้มีการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน
  3. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำกับดูแล ให้ข้อเสนอแนะและสนับสนุนให้มีการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการทุจริตและคอร์รัปชันรวมทั้งให้มีการทบทวนและติดตามมาตรการที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม
  4. กรรมการผู้จัดการใหญ่และฝ่ายจัดการ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดให้มีระบบและสนับสนุนนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันพร้อมทั้งทำการสื่อสารและสร้างความเข้าใจไปยังผู้บริหารและพนักงานส่งเสริมให้มีการนำนโยบายไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กรตลอดจนจัดให้มีการทบทวนระบบให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันได้ดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  5. ฝ่ายตรวจสอบภายใน มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการสอบทานประเมินความเสี่ยงให้คำแนะนำในการจัดทำมาตราการและแนวป้องกันความเสี่ยง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบ รวมทั้งรับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานการปฎิบัติว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงตามนโยบายแนวปฏิบัติ อำนาจดำเนินการ ระเบียบปฏิบัติ และกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่ามีระบบควบคุมที่มีความเหมาะสม
 
แนวการปฏิบัติ
  1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและจรรยาบรรณการทำงานโดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
  2. พนักงานและผู้บริหารของบริษัทต้องไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉยเมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัทต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามให้ปรึกษาผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณบริษัทผ่านช่องทางต่างๆที่กำหนดไว้
  3. บริษัทกำหนดให้มีช่องทางการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำทุจริตคอร์รัปชัน โดยจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธหรือแจ้งเรื่องทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชันตามที่บริษัทกำหนดไว้ในนโยบายการแจ้งข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะ
  4. บริษัทต้องสร้างและรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นว่าคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ทั้งการทำธุรกรรมกับภาครัฐและเอกชน
  5. บริษัทมีคณะจัดการบริหารความเสี่ยงประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันมีฝ่ายตรวจสอบภายในมีกระบวนการตรวจสอบและระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพทั้งด้านกระบวนการการเงิน การบัญชี การเก็บบันทึกข้อมูล และอื่นๆ
  6. บริษัทมีการทบทวนนโยบาย แนวปฏิบัติและการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินธุรกิจรวมถึงการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน
  7. ผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชันเป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณของบริษัท ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้และโทษตามกฎหมายหากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
  8. บริษัทให้ความสำคัญในการเผยแพร่ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันกับบุคคลอื่นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทเพื่อนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกที่ดี   
 ข้อกำหนดในการดำเนินการ
  1. นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้ครอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารงานบุคคลตั้งแต่การสรรหาหรือการคัดเลือกบุคลากร การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม การประเมินผลการปฎิบัติงานพนักงานและการให้ผลตอบแทนโดยกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับสื่อสารและทำความเข้าใจกับพนังาน
  2. การดำเนินการใดๆ ตามนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์ปชันให้ใช้แนวปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในคู่มือจรรยาบรรณทางธุรกิจรวมทั้งระเบียบและคู่มือปฎิบัติงานของบริษัทที่เกี่ยวข้องตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่บริษัทจะกำหนดขึ้นต่อไป
  3. เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัททุกระดับต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ซึ่งมีแนวปฏิบัติดังนี้
                3.1 การรับหรือให้ของขวัญ ทรัพย์สิน การเลี้ยงรับรอง การบริการ ค่าใช้จ่ายหรือประโยชน์อื่นใดรวมถึงการบริจาคและการใช้เงินสนับสนุนอย่างถูกต้องตามแนวปฏิบัติของบริษัทสอดคล้องกับกฎหมายและต้องมั่นใจว่าจะไม่ถูกใช้เป็นสินบนหรือนำมาซึ่งผลประโยชน์ขัดแย้ง
               3.2 เงินบริจาคเพื่อการกุศลหรือเงินสนับสนุนการให้หรือรับเงินบริจาคหรือเงินสนับสนุนต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมายโดยต้องมั่นใจว่าเงินบริจาคหรือเงินสนับสนุนไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน
                3.3 การจ่ายค่าอำนวยความสะดวกบริษัทไม่มีนโยบายที่จะจ่ายค่าอำนวยความสะดวกใดๆ ให้แก่เจ้าหน้าที่ ของรัฐ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ดำเนินการรวดเร็วมากขึ้น
               3.4 การให้ความช่วยเหลือทางการเมืองบริษัทวางตัวเป็นกลางทางการเมืองโดยไม่กระทำการอันเป็นการฝักใฝ่หรือสนับสนุนการให้เงิน ทรัพย์สิน สิทธิประโยชน์อื่นใด หรือสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทางการเมือง ทั้งนี้บริษัทเป็นองค์กรที่ยึดมั่นในความเป็นกลางทางการเมืองสนับสนุนการปฏิบัติตามกฎหมายและการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงไม่มีแนวทางในการให้ความช่วยเหลือทางการเมืองแก่พรรคการเมืองใดไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม
               3.5 การจ้างพนักงานบริษัทมีนโยบายการจ้างงานพนักงานรัฐ เพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง ที่เป็นประจำของบริษัท โดยต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกการอนุมัติการจ้าง การกำหนดค่าตอบแทน และกระบวนการควบคุม เพื่อให้มั่นใจว่าการจ้างพนักงานรัฐจะไม่ได้เป็นการตอบแทนการได้มาซึ่งประโยชน์ใดๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทและส่งผลต่อความเที่ยงตรงของการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีความเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชั่น
  • ต้องมีกระบวนการตรวจสอบประวัติของบุคคลที่บริษัทจะสรรหาเพื่อแต่งตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการ ที่ปรึกษา ผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัทเพื่อตรวจสอบสิ่งที่อาจเป็นประเด็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ก่อนแต่งตั้ง
  • การคัดเลือก การอนุมัติการจ้างและการกำหนดค่าตอบแทน ในการจ้างพนักงานรัฐ เพื่อดำรงตำแหน่งพนักงานระดับผู้จัดการฝ่ายลงไปต้องได้รับการพิจารณาเหตุผลความจำเป็น จากกรรมการผู้จัดการใหญ่ก่อนการจ้างพนักงานรัฐนั้นๆ
  • การคัดเลือก การอนุมัติการจ้างและการกำหนดค่าตอบแทนในการจ้างพนักงานรัฐ เพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการและระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปต้องได้รับการพิจารณาเหตุผลความสำคัญอย่างระมัดระวังจากคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนและเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริหาร
 
เผยแพร่นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
           การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจและเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกระดับและผู้เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้ บริษัทจัดให้มีการเผยแพร่ให้ความรู้ให้คำปรึกษาและทำความเข้าใจกับกรรมการ ผู้บริหาร บุคลากรในองค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อให้บุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันฉบับนี้  บริษัทจะดำเนินการดังต่อไปนี้
  • จัดให้มีการสื่อสารและเผยแพร่นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันให้บุคลากรผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การปฐมนิเทศพนักงานใหม่ การอบรมหรือสัมมนา การประชาสัมพันธ์ภายในบริเวณที่ทำงานและผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงการสื่อสารให้ทุกคนในบริษัทรับทราบเกี่ยวกับนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
  • เผยแพร่นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัทได้แก่ แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี เว็บไซต์ของบริษัท อีเมล์
 การรับแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียน (Whistle Blowing Center) 
          บริษัทส่งเสริมให้พนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนในการแจ้งเบาะแสถึงการกระทำที่อาจทำให้เกิดความสงสัยได้ว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชันไปยัง“ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ” เพื่อพิจารณาโดยผ่านช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนดังนี้
  1. ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ E-mail: [email protected]   หรือแจ้งผ่านไปรษณีย์ โดยระบุหน้าซองถึงหรือยื่นโดยตรง ได้ที่
  2. ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ ที่อยู่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 99/1-3 หมู่ที่13 ถนนบางนา-ตราด กม.7 ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 10540
ในกรณีผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน มีข้อร้องเรียนคณะกรรมการบริษัทฯ ขอให้ท่านส่งเรื่องมายังประธานคณะกรรมการตรวจสอบโดยตรงบุคคลที่สามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตและคอร์รัปชัน โดยจะเก็บรักษาข้อมูล ข้อร้องเรียน และเอกสารหลักฐานของผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลไว้เป็นความลับ
 
การไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
        หากกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน มิได้ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทจะต้องได้รับบทลงโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนด หากการกระทำทุจริตคอร์รัปชันนั้นผิดกฎหมายผู้กระทำผิดอาจจะต้องได้รับโทษทางกฎหมาย 
 
การทบทวน ตรวจสอบ และปรับปรุง   
        บริษัทกำหนดให้มีการทบทวน ตรวจสอบ และปรับปรุงนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันและนโยบายอื่นที่เกี่ยวข้องทุก 2 ปี หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงที่มีสาระสำคัญให้สามารถปรับปรุงแก้ไขทันที
 

การพัฒนาองค์ความรู้แก่กรรมการ

นโยบาย
         คณะกรรมการบริษัท ทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแล และจัดทำแผนพัฒนากรรมการทุกชุด เพื่อให้คณะกรรมการผู้บริหารระดับสูง รวมถึงเลขานุการบริษัท เข้าร่วมพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการปฐมนิเทศกรรมการใหม่ โดยมุ่งเน้นให้การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการบรรลุตามวัตถุประสงค์ เป้าหมายและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กร ทั้งนี้ ได้กำหนดแผนพัฒนาไว้ดังนี้
 
แนวทางปฏิบัติ
คณะกรรมการ
         คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการบริหาร ควรเข้าร่วมอบรม / สัมมนาหลักสูตรที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งทางด้านกฎหมาย กฎระเบียบ หรือข้อกำหนด ที่จัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสถาบันอื่นใดในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ อย่างสม่ำเสมอ โดยกำหนดให้กรรมการต้องเข้าร่วมอบรม / สัมมนา จำนวน 1 ใน 3 ของกรรมการทั้งคณะ หรือรวมกันอย่างน้อย 5 หลักสูตรต่อปี เพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำหน้าที่กรรมการ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามระเบียบ ข้อกำหนดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยกรรมการที่เข้ารับการอบรม / สัมมนาต้องถ่ายทอดข้อมูลดังกล่าว ให้แก่กรรมการทุกท่านรับทราบในที่ประชุมคณะกรรมการในการประชุมครั้งถัดไป
 
กรรมการใหม่
          กรรมการที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ กรรมการใหม่จะได้รับการปฐมนิเทศตามแผนพัฒนากรรมการ เพื่อรับทราบข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท การปฏิบัติหน้าที่ และความรับผิดชอบ รวมถึงสร้างความเข้าใจในวัตถุประสงค์ เป้าหมาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยมองค์กร ตลอดจนการให้คำแนะนำทางด้านกฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ ข้อกำหนด พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เงื่อนไขต่าง ๆ ของการเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงข้อบังคับบริษัทจากคณะกรรมการบริษัทอย่างเพียงพอก่อนการปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางการปฐมนิเทศกรรมการเข้าใหม่ (Board Orientation Guideline) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 
           นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทส่งเสริมและสนับสนุนให้กรรมการใหม่เข้ารับการอบรม / สัมมนาในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ หน้าที่ทั้งหลักสูตรของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยเฉพาะหลักสูตร Director Certification Program (DCP) หลักสูตร Director Accreditation Program (DAP) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือ หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และเพิ่มทักษะอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่กรรมการตามแผนพัฒนากรรมการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้แก่คณะกรรมการทราบในที่ประชุมคณะกรรมการในการประชุมครั้งถัดไป
 
เลขานุการบริษัทและเลขานุการคณะกรรมการชุดย่อย
          คณะกรรมการบริษัทส่งเสริมและสนับสนุนให้เลขานุการบริษัท และเลขานุการคณะกรรมการชุดย่อยเข้าร่วมอบรม / สัมมนา อย่างต่อเนื่องในหลักสูตรที่จำเป็นและเกี่ยวข้อง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงหลักสูตรที่มีการรับรอง เพื่อการพัฒนาทักษะในการปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำทุกปี ทั้งทางด้านกฎหมาย บัญชี กฎระเบียบ หรือข้อกำหนด ที่จัด โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) สถาบันไทยพัฒน์ชมรมเลขานุการ บริษัทไทย (TCSC) หรือสถาบันอื่นใดในหัวข้อที่เกี่ยวข้องอย่าง สม่ำเสมอ อย่างน้อย 5 หลักสูตรต่อปี เพื่อพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อกำหนด ตามกฎหมายที่ เกี่ยวข้อง และถ่ายทอดข้อมูลดังกล่าว ให้แก่คณะกรรมการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร พนักงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ
 
การทบทวนและปรับปรุงนโยบาย
          บริษัทฯ จะกำหนดให้มีการทบทวนนโยบายนี้ อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก ๆ 1 ปีหรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของบริษัท

 

นโยบายและแผนการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหาร
           
          บริษัทฯ มีแผนการคัดเลือกบุคลากรที่จะเข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งงานบริหารที่สำคัญทุกระดับให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และโปร่งใส เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ ได้ผู้บริหารที่มีความเป็นมืออาชีพ โดยมีคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน เป็นผู้จัดทำแผนสืบทอดตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารของบริษัทฯ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้พิจารณา ดังนี้         
 
ระดับประธานกรรมการบริหาร / กรรมการผู้จัดการ
          เมื่อตำแหน่งผู้บริหารระดับประธานกรรมการบริหาร / กรรมการผู้จัดการว่างลง หรือผู้อยู่ในตำแหน่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งได้ บริษัทฯ มีระบบการให้ผู้บริหารในระดับใกล้เคียง หรือระดับรองเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งจนกว่าจะมีการสรรหาและคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯกำหนด และต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ ความเหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กร โดยการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนเป็นผู้สรรหา เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งผู้ที่มีความเหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งแทนต่อไป
 
ระดับบริหาร
          เมื่อตำแหน่งระดับบริหารตั้งแต่ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการขึ้นไปหรือเทียบเท่าว่างลง หรือผู้อยู่ในตำแหน่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งได้ บริษัทฯจะมีการนำเสนอผู้สืบทอดตำแหน่งที่คัดเลือกไว้เสนอต่อคณะกรรมการบริหาร ทั้งนี้ การวางแผนการสืบทอดตำแหน่งของบริษัทฯ ระดับบริหารมีกระบวนการ ดังนี้
  • วิเคราะห์สถานการณ์การประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ในด้านกลยุทธ์ของบริษัทฯ นโยบาย แผนการลงทุน แผนงานขยายธุรกิจ
  • ประเมินความพร้อมของกำลังคนให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทฯ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  • กำหนดแผนสร้างความพร้อมของกำลังคน โดยจะพัฒนาพนักงานหรือสรรหาพนักงานเพื่อเตรียมทดแทนผู้ที่พ้นตำแหน่ง
  • สร้างแผนสรรหาพนักงาน (Recruitment) และพัฒนาฝึกอบรมพนักงาน (Employee Training and Development) ไว้ล่วงหน้า ก่อนพนักงานจะเกษียณอายุงาน หรือลาออกจากตำแหน่ง
  • กำหนดความสามารถ (Competencies) หมายถึง ความรู้ ทักษะ บุคลิกภาพ และทัศนคติที่พึงปรารถนาของพนักงาน ในตำแหน่งนั้นๆ และจัดทำแผนพัฒนาเป็นรายบุคคล (Individual Development Plan)
  • คัดเลือก ประเมินผลงาน และประเมินศักยภาพของพนักงานเพื่อพิจารณาตามความเหมาะสม
  • มีการทดสอบ และประเมินผล เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของบุคลากร
  • ระบุผู้สืบทอดตำแหน่ง จากการประเมินและวิเคราะห์ศักยภาพ ผลงาน ของพนักงาน โดยมีการแจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมรับมอบและเรียนรู้งาน และกำหนดผู้สืบทอดสำรอง
  • พัฒนาและประเมินพนักงานที่คาดว่าจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งว่าจะสามารถมีพัฒนาการ และสร้างผลงาน ตามที่คาดหวังได้จริง ซึ่งหากไม่เป็นไม่ตามคาดหมายแล้วยังสามารถเปลี่ยนผู้สืบทอดได้